วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555



ประเภทเครื่องดนตรีสากล

คุณลักษณะของเสียงที่เกิดจากเครื่องดนตรีแต่ละชนิด ย่อมแตกต่างกันด้วยองค์ประกอบหลายประการ เครื่องดนตรีแต่ละชนิดมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป การเรียนรู้ให้เข้าใจเรื่องเครื่องดนตรีแต่ละชนิดจะทำให้สามารถจำแนกเครื่องดนตรีได้ถูกต้อง และเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดที่นำไปประสมวงเป็นวงดนตรีประเภทต่างๆ

          เมื่อดนตรีของชาติตะวันตกที่คิดค้นมาจากทวีปยุโรป และอเมริกา ได้รับการยอมรับมีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ดนตรีตะวันตกจึงกลายเป็นดนตรี ของคนทุกชาติทุกภาษา ถือได้ว่า เป็นของสากล จึงเกิดคำว่า “ดนตรีสากล” เครื่องดนตรีตะวันตกก็เช่นเดียวกัน เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ชาติตะวันตกได้คิดค้นขึ้นมา เครื่องดนตรีมีอยู่หลายแบบแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น แต่ละชนชาติ และมีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เป็นที่ยอมรับของคนทุกชาติ ทุกภาษา ถือว่าเป็นของสากลเช่นกัน จึงเกิดคำว่า “เครื่องดนตรีสากล” ซึ่งหมายถึง เครื่องดนตรีที่ถือกำเนิดมาจากชาติตะวันตกนั่นเอง
          เครื่องดนตรีคือสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อกำเนิดเสียงชนิดต่างๆ ตามที่ต้องการ เสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันออกไป ทำให้เกิดความหลากหลายของเสียง บทเพลงมีสีสัน มีชีวิตชีวา เสริมสร้างอารมณ์จากเสียงของเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ เครื่องดนตรีสากลในปัจจุบันสามารถจำแนกหรือจัดเป็นประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะของเสียงที่คล้ายคลึงกัน และลักษณะของเครื่องดนตรี แบ่งออกเป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

 1. เครื่องสาย (String Instruments)

เครื่องสาย

เครื่อง ดนตรีประเภทเครื่องสาย สายของเครื่องดนตรีประเภทนี้มีทั้งสายที่ทำมาจากเส้นลวด เส้นเอ็น เส้นไหม ไนล่อน หรือโลหะอย่างใดอย่างหนึ่ง นำมาขึงให้ตึง ความดังของเสียงขึ้นอยู่กับรูปร่าง และวัสดุที่นำมาใช้ทำกะโหลกเครื่องดนตรี กะโหลกเครื่องดนตรีทำหน้าที่เป็นตัวขยายเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของ สาย เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายที่นำมาใช้ในการประสมวงดนตรีมีดังนี้
ประเภทเครื่องสี ได้แก่ ไวโอลิน วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส 
 
ประเภทเครื่องดีด ได้แก่ ฮาร์พ ไลร์ ลูท แบนโจ กีต้าร์ แมนโดลิน


2. เครื่องลมไม้ (Woodwind Instruments)

เครื่องลมไม้

เครื่องดนตรี ประเภทนี้ เกิดเสียงโดยการเป่าลมผ่านช่องแคบๆ ให้เข้าไปภายในท่อ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวขยายเสียงให้ดังขึ้น คุณลักษณะของเสียงที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกัน ตามขนาดของท่อ ความสั้นยาวของท่อ และความแรงของลมที่เป่าเข้าไปภายในท่อ
เครื่องดนตรี แต่ละชนิดยังมีขนาดต่างๆ กันออกไป เครื่องดนตรีขนาดเล็กจะให้ระดับเสียงสูง เครื่องดนตรีขนาดใหญ่จะให้เสียงต่ำ ผู้บรรเลงจะต้องเลือกใช้เครื่องดนตรีให้เหมาะสมกับบทเพลง ตามที่ผู้ประพันธ์เพลงได้กำหนดไว้ ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีดังต่อไปนี้
ประเภทเป่าลมผ่านช่องลม ได้แก่ เรคอร์เดอร์ ปิคโคโล ฟลูท 
 
ประเภทเป่าลมผ่านลิ้น ได้แก่ คลาริเน็ต แซกโซโฟน 
 

3. เครื่องลมทองเหลือง (Brass Instruments)

เครื่องลมทองเหลือง

เครื่อง ดนตรีประเภทนี้มักทำด้วยโลหะผสมหรือโลหะทองเหลือง เสียงของเครื่องดนตรีประเภทนี้เกิดจากการเป่าผ่านท่อโลหะ ความสั้นยาวของท่อโลหะทำให้ระดับเสียงเปลี่ยนไป การเปลี่ยนความสั้นยาวของท่อโลหะจะใช้ลูกสูบเป็นตัวบังคับ
เครื่องดนตรี บางชนิดจะใช้การชักท่อลมเข้าออก เปลี่ยนความสั้นยาวของท่อตามความต้องการ ลักษณะเด่นของเครื่องดนตรีประเภทนี้ มีปากลำโพงสำหรับใช้ขยายเสียงให้มีความดังเจิดจ้า เรามักเรียกเครื่องดนตรีประเภทนี้รวมๆ กันว่า “แตร” ขนาดของปากลำโพงขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องดนตรี ปากเป่าของเครื่องดนตรีประเภทนี้เรียกว่า “กำพวด” (Mouthpiece) ทำด้วยท่อโลหะ ทรงกรวย ด้านปากเป่ามีลักษณะบานออก คล้ายรูปกรวย มีขนาดต่างๆ กัน ตามขนาดของเครื่องดนตรีนั้นๆ ปลายท่ออีกด้านหนึ่งของกำพวด ต่อเข้ากับท่อลมของเครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีสากลประเภทเครื่องลมทองเหลือง ได้แก่ คอร์เน็ต ทรัมเป็ต บิวเกิล ฟลูเกิลฮอร์น เฟรนช์ฮอร์น ทรอมโบน บาริโทน ยูโฟเนียม ทูบา ซูซาโฟน

4. เครื่องลิ่มนิ้ว (Keyboard Instruments)

เครื่องลิ่มนิ้ว

เครื่องดนตรีในยุคนี้ มักนิยมเรียกทับศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า “เครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ด” ลักษณะเด่นของเครื่องดนตรีที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็คือ มีลิ่มนิ้วสำหรับกด เพื่อเปลี่ยนระดับเสียงดนตรี ลิ่มนิ้วสำหรับกดนั้นนิยมเรียกว่า “คีย์” (Key) เครื่องดนตรีแต่ละชนิดมีจำนวนคีย์ไม่เท่ากัน โดยปกติสีของคีย์เป็นขาวหรือดำ คีย์สีดำโผล่ขึ้นมากกว่าคีย์สีขาว
การเกิดเสียง ของเครื่องดนตรีในกลุ่มนี้มีหลายลักษณะ เปียโน ฮาร์ปซิคอร์ด คลาวิคอร์ด เกิดเสียง โดยการกดคีย์ที่ต้องการ แล้วคีย์นั้นจะส่งแรงไปที่กลไกต่างๆ ภายในเครื่องเพื่อที่จะทำให้สายโลหะที่ขึงตึงสั่นสะเทือน ทำให้เกิดเสียงให้ดังขึ้น เครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดบางชนิดให้ลมผ่านไปยังลิ้นโลหะให้สั่นสะเทือน ทำให้เกิดเสียงดังขึ้น เครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดบางชนิดให้ลมผ่านไปยังลิ้นโลหะให้สั่นสะเทือนทำให้เกิดเสียง ในปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้วจะมีบางเป็นบางโอกาส
ในปัจจุบัน เครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดที่เกิดเสียงโดยใช้วงจรอิเล็คทรอนิกส์ ไดรับความนิยมมาก เพราะสามารถเลียนแบบเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ ได้หลายชนิด ซึ่งได้พัฒนามาจากออร์แกนไฟฟ้านั่นเอง มีชื่อเรียกหลายชื่อ แต่ละชื่อมีลักษณะแตกต่างกันออกไป เช่น เครื่องสตริง (String Machine) คือ เครื่องประเภทคีย์บอร์ด ทีเลียนเสียงเครื่องดนตรีในตระกูลไวโอลินทุกชนิด อิเล็คโทน คือ เครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดที่มีจังหวะในตัว สามารถบรรเลงเพลงต่างๆ ได้ด้วยนักดนตรีเพียงคนเดียว
ในยุคของ คอมพิวเตอร์ เครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดได้วิวัฒนาการไปมาก เสียงต่างๆ มีมากขึ้น นอกจากเสียงดนตรีแล้วยังมีเสียงเอฟเฟ็คต์ (Effect) ต่างๆ ให้เลือกใช้มาก เสียงต่างๆ เหล่านี้เป็นเสียงที่สังเคราะห์ขึ้นมาด้วยระบบ อิเล็คทรอนิกส์ ดังนั้นเครื่องดนตรีประเภทนี้จึงถูกเรียกว่า “ซินธีไซเซอร์” (Synthesizer)
เครื่องดนตรีที่จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องลิ่มนิ้ว ได้แก่ เปียโน ออร์แกน ฮาร์พซิคอร์ด คลาวิคอร์ด แอคคอร์เดียน อิเลคโทน 
 

5. เครื่องกระทบ (Percussion Instruments)

เครื่องกระทบ

 เครื่อง ดนตรีประเภทเครื่องกระทบ ได้แก่ เครื่องดนตรีที่เกิดเสียงจากการตี การสั่น การเขย่า การเคาะ หรือการขูด การตีอาจจะใช้ไม้ตีหรืออาจจะใช้สิ่งหนึ่งกระทบเข้ากับอีกสิ่งหนึ่งเพื่อทำ ให้เกิดเสียง เครื่องกระทบประกอบขึ้นด้วยวัสดุที่เป็นของแข็งหลายชนิด เช่น โลหะ ไม้ หรือแผ่นหนังขึงตึง แบ่งออกเป็น2ประเภท ได้แก่
เครื่องดนตรีที่มีระดับเสียงแน่นอน (Definite Pitch Instruments)
เครื่องดนตรีกลุ่มนี้มีระดับเสียงสูงต่ำเหมือนกับเครื่องดนตรีประเภทอื่น เกิดเสียงโดยการตีกระทบ ส่วนใหญ่ตีกระทบเป็นทำนองเพลงได้
ไซโลโฟน ไวบราโฟน มาริมบา ระฆังราว กลองทิมปานี 
 
ประเภทเครื่องดนตรีที่มีระดับเสียงไม่แน่นอน (Indefinite Pitch Instruments)

เครื่องดนตรีกลุ่มนี้ไม่มีระดับเสียงที่แน่นอน หน้าที่สำคัญคือ ใช้เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ เกิดเสียงโดยการตี สั่น เขย่า เคาะ หรือขูด
กลองใหญ่ กลองแต๊ก ฉาบ กิ๋ง แทมบูริน เคาเบลล์ คาบาซา บองโก คองการ์ กลองชุด


องค์ประกอบของดนตรีสากล

ดนตรีเป็นศิลปะของเสียงที่เกิดจากความพากเพียรของมนุษย์ในการสร้างเสียงให้อยู่ในระเบียบของจังหวะ ทำนอง สีสันของเสียงและคีตลักษณ์

องค์ประกอบของดนตรีสากล

        ดนตรีไม่ว่าจะเป็นของชาติใด ภาษาใด ล้วนมีพื้นฐานมาจากส่วนต่างๆ เหล่านี้ทั้งสิ้น ความแตกต่างในรายละเอียดของแต่ละส่วนแต่ละวัฒนธรรมนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่การที่จะแตกต่างกันอย่างไรนั้น กรอบวัฒนธรรมของแต่ละสังคมจะเป็นปัจจัยที่กำหนดในตรงตามรสนิยมของแต่ละวัฒนธรรมจนเป็นผลให้สามารถแยกแยะดนตรีของชาติหนึ่งแตกต่างจากดนตรีของอีกชาติหนึ่งอย่างไร
        องค์ประกอบของดนตรีสากล ประกอบด้วย

1. เสียง (Tone)
         คีตกวีผู้สร้างสรรค์ดนตรี เป็นผู้ใช้เสียงในการสร้างสรรค์ผลิตงานศิลปะเพื่อรับใช้สังคม ผู้สร้างสรรค์ดนตรีสามารถสร้างเสียงที่หลากหลายโดยอาศัยวิธีการผลิตเสียงเป็นปัจจัยกำหนด เช่น การดีด การสี การตี การเป่า
        เสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนของอากาศที่เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ส่วนเสียงอึกทึกหรือเสียงรบกวน (Noise) เกิดจากการสั่นสะเทือนของอากาศที่ไม่สม่ำเสมอ ลักษณะความแตกต่างของเสียงขึ้นอยู่กบคุณสมบัติสำคัญ 4ประการ คือ ระดับเสียง ความยาวของเสียง ความเข้มของเสียง และคุณภาพของเสียง

        1.1 ระดับเสียง (Pitch) หมายถึง ระดับความสูง-ต่ำของเสียง ซึ่งเกิดการจำนวนความถี่ของการสั่นสะเทือน กล่าวคือ ถ้าเสียงที่มีความถี่สูง ลักษณะการสั่นสะเทือนเร็ว จะส่งผลให้มีระดับเสียงสูง แต่ถ้าหากเสียงมีความถี่ต่ำ ลักษณะการสั่นสะเทือนช้าจะส่งผลให้มีระดับเสียงต่ำ

        1.2 ความสั้น-ยาวของเสียง (Duration) หมายถึง คุณสมบัติที่เกี่ยวกับความยาว-สั้นของเสียง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งของการกำหนดลีลา จังหวะ ในดนตรีตะวันตก การกำหนดความสั้น-ยาวของเสียง สามารถแสดงให้เห็นได้จากลักษณะของตัวโน้ต เช่น โน้ตตัวกลม ตัวขาว และตัวดำ เป็นต้น สำหรับในดนตรีไทยนั้น แต่เดิมมิได้ใช้ระบบการบันทักโน้ตเป็นหลัก แต่ย่างไรก็ตาม การสร้างความยาว-สั้นของเสียงอาจสังเกตได้จากลีลาการกรอระนาดเอก ฆ้องวง ในกรณีของซออาจแสดงออกมาในลักษณะของการลากคันชักยาวๆ

        1.3 ความเข้มของเสียง (Intensity) ความเข้มของสียงเกี่ยวข้องกับน้ำหนักของความหนักเบาของเสียง ความเข้มของเสียงจะเป็นคุณสมบัติที่ก่อประโยชน์ในการเกื้อหนุนเสียงให้มีลีลาจังหวะที่สมบูรณ์

        1.4 คุณภาพของเสียง (Quality) เกิดจากคุณภาพของแหล่งกำเนิดเสียงที่แตกต่างกัน ปัจจัยที่ทำให้คุณภาพของเสียงเกิดความแตกต่างกันนั้น เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น วิธีการผลิตเสียง รูปทรงของแหล่งกำเนิดเสียง และวัสดุที่ใช้ทำแหล่งกำเนิดเสียง ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดลักษณะคุณภาพของเสียง ซึ่งเป็นหลักสำคัญให้ผู้ฟังสามารถแยกแยะสีสันของสียง (Tone Color) ระหว่างเครื่องดนตรีเครื่องหนึ่งกับเครื่องหนึ่งได้อย่างชัดเจน

2. พื้นฐานจังหวะ (Element of Time)
        จังหวะเป็นศิลปะของการจัดระเบียบเสียง ที่เกี่ยวข้องกับความช้าเร็ว ความหนักเบาและความสั้น-ยาว องค์ประกอบเหล่านี้ หากนำมาร้อยเรียง ปะติดปะต่อเข้าด้วยกันตามหลักวิชาการเชิงดนตรีแล้ว สามารถที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดลีลาจังหวะอันหลากหลาย ในเชิงจิตวิทยา อิทธิพลของจังหวะที่มีผลต่อผู้ฟังจะปรากฏพบในลักษณะของการตอบสนองเชิงกายภาพ เช่น ฟังเพลงแล้วแสดงอาการกระดิกนิ้ว ปรบมือร่วมไปด้วย

3. ทำนอง (Melody)
        ทำนองเป็นการจัดระเบียบของเสียงที่เกี่ยวข้องกับความสูง-ต่ำ ความสั้น-ยาว และความดัง-เบา คุณสมบัติเหล่านี้เมื่อนำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของความช้า-เร็ว จะเป็นองค์ประกอบของดนตรีที่ผู้ฟังสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุด
        ในเชิงจิตวิทยา ทำนองจะกระตุ้นผู้ฟังในส่วนของสติปัญญา ทำนองจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความประทับใจ จดจำ และแยกแยะความแตกต่างระหว่างเพลงหนึ่งกับอีกเพลงหนึ่ง

4. พื้นผิวของเสียง (Texture)
        “พื้นผิว” เป็นคำที่ใช้อยู่ทั่วไปในวิชาการด้านวิจิตรศิลป์ หมายถึง ลักษณะพื้นผิวของสิ่งต่างๆ เช่น พื้นผิวของวัสดุที่มีลักษณะขรุขระ หรือเกลี้ยงเกลา ซึ่งอาจจะทำจากวัสดุที่ต่างกัน
        ในเชิงดนตรีนั้น “พื้นผิว” หมายถึง ลักษณะหรือรูปแบบของเสียงทั้งที่ประสานสัมพันธ์และไม่ประสานสัมพันธ์ โดยอาจจะเป็นการนำเสียงมาบรรเลงซ้อนกันหรือพร้อมกัน ซึ่งอาจพบทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ตามกระบวนการประพันธ์เพลง ผลรวมของเสียงหรือแนวทั้งหมดเหล่านั้น จัดเป็นพื้นผิวตามนัยของดนตรีทั้งสิ้น ลักษณะรูปแบบพื้นผิวของเสียงมีอยู่หลายรูปแบบ ดังนี้

        4.1 Monophonic Texture         เป็นลักษณะพื้นผิวของเสียงที่มีแนวทำนองเดียว ไม่มีเสียงประสาน พื้นผิวเสียงในลักษณะนี้ถือเป็นรูปแบบการใช้แนวเสียงของดนตรีในยุคแรกๆ ของดนตรีในทุกวัฒนธรรม

        4.2 Polyphonic Texture         เป็นลักษณะพื้นผิวของเสียงที่ประกอบด้วยแนวทำนองตั้งแต่สองแนวทำนองขึ้นไป โดยแต่ละแนวมีความเด่นและเป็นอิสระจากกัน ในขณะที่ทุกแนวสามารถประสานกลมกลืนไปด้วยกัน
        ลักษณะแนวเสียงประสานในรูปของ Polyphonic Texture มีวิวัฒนาการมาจากเพลงชานท์ (Chant) ซึ่งมีพื้นผิวเสียงในลักษณะของเพลงทำนองเดียว (Monophonic Texture) ภายหลังได้มีการเพิ่มแนวขับร้องเข้าไปอีกหนึ่งแนว แนวที่เพิ่มเข้าไปใหม่นี้จะใช้ระยะขั้นคู่ 4 และคู่ 5 และดำเนินไปในทางเดียวกับเพลงชานท์เดิม การดำเนินทำนองในลักษณะนี้เรียกว่า “ออร์กานุ่ม” (Orgonum) นับได้ว่าเป็นยุคเริ่มต้นของการประสานเสียงแบบ Polyphonic Texture หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา แนวทำนองประเภทนี้ได้มีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ซึ่งเป็นระยะเวลาที่การสอดทำนอง (Counterpoint) ได้เข้าไปมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการตกแต่งพื้นผิวของแนวทำนองแบบ Polyphonic Texture

        4.3 Homophonic Texture         เป็นลักษณะพื้นผิวของเสียง ที่ประสานด้วยแนวทำนองแนวเดียว โดยมี กลุ่มเสียง (Chords) ทำหน้าที่สนับสนุนในคีตนิพนธ์ประเภทนี้ แนวทำนองมักจะเคลื่อนที่ในระดับเสียงสูงที่สุดในบรรดากลุ่มเสียงด้วยกัน ในบางโอกาสแนวทำนองอาจจะเคลื่อนที่ในระดับเสียงต่ำได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าคีตนิพนธ์ประเภทนี้จะมีแนวทำนองที่เด่นเพียงทำนองเดียวก็ตาม แต่กลุ่มเสียง (Chords) ที่ทำหน้าที่สนับสนุนนั้น มีความสำคัญที่ไม่น้อยไปกว่าแนวทำนอง การเคลื่อนที่ของแนวทำนองจะเคลื่อนไปในแนวนอน ในขณะที่กลุ่มเสียงสนับสนุนจะเคลื่อนไปในแนวตั้ง

        4.4 Heterophonic Texture         เป็นรูปแบบของแนวเสียงที่มีทำนองหลายทำนอง แต่ละแนวมีความสำคัญเท่ากันทุกแนว คำว่า Heteros เป็นภาษากรีก หมายถึงแตกต่างหลากหลาย ลักษณะการผสมผสานของแนวทำนองในลักษณะนี้ เป็นรูปแบบการประสานเสียง

5. สีสันของเสียง (Tone Color)
         “สีสันของเสียง” หมายถึง คุณลักษณะของเสียงที่กำเนิดจากแหล่งเสียงที่แตกต่างกัน แหล่งกำเนิดเสียงดังกล่าว เป็นได้ทั้งที่เป็นเสียงร้องของมนุษย์และเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ความแตกต่างของเสียงร้องมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเพศชายกับเพศหญิง หรือระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานของการแตกต่างทางด้านสรีระ เช่น หลอดเสียงและกล่องเสียง เป็นต้น
        ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดนตรีนั้น ความหลากหลายด้านสีสันของเสียง ประกอบด้วยปัจจัยที่แตกต่างกันหลายประการ เช่น วิธีการบรรเลง วัสดุที่ใช้ทำเครื่องดนตรี รวมทั้งรูปทรง และขนาด ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลโดยตรงต่อสีสันของเสียงเครื่องดนตรี ทำให้เกิดคุณลักษณะของเสียงที่แตกต่างกันออกไป

        5.1 วิธีการบรรเลง         อาศัยวิธีดีด สี ตี และเป่า วิธีการผลิตเสียงดังกล่าวล้วนเป็นปัจจัยให้เครื่องดนตรีมีคุณลักษณะของเสียงที่ต่างกัน

        5.2 วัสดุที่ใช้ทำเครื่องดนตรี         วัสดุที่ใช้ทำเครื่องดนตรีของแต่ละวัฒนธรรมจะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของสังคมและยุคสมัย วัสดุที่ใช้ทำเครื่องดนตรีที่แตกต่างกัน นับเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง ที่ส่งผลให้เกิดความแตกต่างในด้านสีสันของเสียง

        5.3 ขนาดและรูปทรง         ลักษณะของเครื่องดนตรีที่มีรูปทรงและขนาดที่แตกต่างกัน จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความแตกต่างกันในด้านสีสันของเสียงในลักษณะที่มีความสัมพันธ์กัน

6. คีตลักษณ์ (Forms)         คีตลักษณ์หรือรูปแบบของเพลง เปรียบเสมือนกรอบที่หลอมรวมเอาจังหวะ ทำนอง พื้นผิว และสีสันของเสียงให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน เพลงที่มีขนาดสั้น-ยาว วนกลับไปมา ล้วนเป็นสาระสำคัญของคีตลักษณ์ทั้งสิ้น


ดนตรีสากล 


            เป็นดนตรีที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติตะวันตก มีการบันทึกเพลงเป็นสัญลักษณ์ ที่เรียกว่า โน้ตสากล ต่อมามีการพัฒนาและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก มีการนำเพลงและเครื่องดนตรีจากต่างประเทศซึ่งเป็นที่นิยมกัน มาใช้ในประเทศ มีการใช้โน้ตสากล จังหวะเพลงที่เป็นสากล

เครื่องดนตรีสากล



   กีตาร์, กลองชุด,  เบส,  ไวโอลิน,  ทรัมเป็ด,  ออร์เกน,  ฟลุต,  อิเล็กโทน,  เป็นต้น

จังหวะสากล
   วอลท์รุมบ้าร็อกดิสโก้ชะชะช่า


การศึกษาวิชาประวัติดนตรีตะวันตกหลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกินและมักมีคำถามเสมอว่าจะศึกษาไปทำไมคำตอบก็คือ ดนตรีตะวันตกเป็นรากเหง้าของดนตรีที่เราได้ยินได้ฟังกันทุกวันนี้  ความเป็นมาของดนตรีหรือประวัติศาสตร์ดนตรีนั้นหมายถึงการมองย้อนหลังไปในอดีตเพื่อพยายามทำความเข้าใจกับแง่มุมต่าง ๆ ของอดีตในแต่ละสมัยนับเวลาย้อนกลับไปเป็นเวลาหลายพันปีจากสภาพสังคมที่แวดล้อม ทัศนะคติและรสนิยมของผู้สร้างสรรค์และผู้ฟังดนตรีในแต่ละสมัยนั้นแตกต่างกันอย่างไรจากการลองผิดลองถูกลองแล้วลองอีกการจินตนาการ ตามแนวคิดของผู้ประพันธ์เพลง จนกระทั่งกลั่นกรองออกมาเป็นเพลงให้ผู้คนได้ฟังกันจนถึงปัจจุบันนี้
          การศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หรือการมองย้อนกลับไปในอดีตนั้นนอกจากเป็นไปเพื่อความสุขใจในการได้ศึกษาเรียนรู้และรับทราบเรื่องราวของอดีตโดยตรงแล้วยังเป็นการศึกษา เป็นแนวทางเพื่อทำความเข้าใจดนตรีที่เกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงในแง่ของดนตรีในปัจจุบันและเพื่อนำมาใช้ในการทำนายหรือคาดเดาถึงแนวโน้มของดนตรีในอนาคตด้วย